นักเคลื่อนไหวและเหล่าเซเลปบริตี้ในอินเดียออกมาเรียกร้องให้หยุดใช้ช้าง เพื่อการท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่างๆในอินเดีย เสนอใช้การขี่จักรยานเยี่ยมชมเมืองแทนการนั่งบนหลังช้าง
กลุ่มนักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิสัตว์ของอินเดียออกมาประท้วงเรียกร้องหยุดการใช้ช้างเป็นพาหนะบริการแก่นักท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอย่างป้อมอาเมร์ (Amer fort) ในเมืองอาเมอรในเมืองชัยปุระ รัฐราชสถานของอินเดีย โดยทางกลุ่มฯระบุว่า ช้างกว่า 100 ตัวที่ให้บริการนักท่องเที่ยวนั้นจะต้องบรรทุกสัมภาระที่นั่งของนักท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว 2 คน รวมแล้วน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัมทุกวัน
คริสตี้ วอร์เรน จากกลุ่มปกป้องสิทธิสัตว์สากล (WAP)กล่าวว่า "ไม่เพียงแต่เป็นการตั้งคำถามถึงความโหดร้ายของการฝึกฝนให้ช้างเหล่านี้เชื่อฟังคำสั่งของควาญช้างเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงช้างเหล่านี้ขาดการดูแลเอาใจใส่และการรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งการขาดสารอาหาร อาการตาบอด ปัญหาเลือด และวัณโรคในช้าง นอกจากนี้ยังมีบาดแผลที่เช้าจากการเดินบนพื้นผิวที่หยาบกระด้างและขรุขระอีกด้วย"
ทั้งนี้ทางข้อเสนอของกลุ่มฯนั้นได้เรียกร้องให้หันมาใช้การขี่จักรยานเยี่ยมชมเมืองแทนการนั่งบนหลังช้าง
ขณะเดียวกันทางกลุ่มเคลื่อนไหวร้องเรียนสิทธิสัตว์ในอินเดียก็ได้ทำแคมเปญรณรงค์ให้ร่วมลงชื่อผ่าน Change.org เพื่อเรียกร้องให้หยุดใช้ช้างในการบริการแก่นักท่องเที่ยวในสถานที่เท่องเที่ยวชื่อดังอย่างป้อมอาเมอร์ (Amer Fort) ในเมืองอาเมอร์ รัฐราชสถานเช่นกัน
ทางกลุ่มฯระบุว่า การขี่ช้างของนักเที่ยวนั้นสนนราคาเที่ยวละ 900 รูปี หรือประมาณ 600 บาท ขณะที่ส่วนแบ่งที่เป็นสวัสดิการของช้างนั้นจะได้รับเพียง 200 รูปี หรือประมาณ 120 บาทเท่านั้น และช้างเหล่านี้จะถูกใช้แรงงานเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในทุกวันตลอด 365 วัน
ที่ผ่านมาองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์อย่างPETA ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้หยุดใช้งานช้างในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว รวมไปถึงมีการเปิดเผยว่ามีการใช้งานช้างที่ตาบอดและช้างที่มีอาการบาดเจ็บจากการถูกใช้งานอย่างหนักมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
การตรวจสอบพบว่าช้างที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในบริเวณป้อมอาเมอร์นั้นมีอาการเจ็บป่วยจากเชื้อวัณโรค ในส่วนขาและเท้าช้างก็มีปัญหาจากการถูกใช้งานอย่างหนักและล่ามโซ่ และยังมีปัญหาเล็บเท้าที่ขาดการดูแลและแผ่นเท้าถลอกที่เกิดจากการเดินบนแผ่นหินที่ขรุขระ นอกจากนี้ยังพบว่าช้างบางตัวมีอาการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจจากการถุกใช้งานอย่างหนัก รวมไปถึงมีอาการตาบอดและมีปัญหาการขาดสารอาหารและการขาดน้ำ ซึ่งทั้งหมดพบว่าไม่มีการดูแลรักษาช้างโดยผู้เชี่ยวชาญหรือสัตวแพทย์แต่อย่างใด