ไม่พบผลการค้นหา
ผลวิจัยชี้ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกิดจากสาเหตุหลายประการ แต่ที่คนส่วนใหญ่อาจนึกไม่ถึง คือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ มีส่วนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเช่นกัน

คุณภาพอากาศย่ำแย่ในเมืองใหญ่ทั่วโลกเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ตัวการหนึ่งซึ่งน่าวิตกกังวลมาก คือ ฝุ่นละเอียด (Fine Particle) ซึ่งก็คือฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ส่งผลให้เกิดโรคหอบหืด และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ในประชากรกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีปัญหาสภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 

ประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยหาทางแก้ไขและป้องกันปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมา มีการควบคุมและป้องกันฝุ่นละเอียด หรือ PM 2.5 ที่เกิดจากควันเสียรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม โรงโม่ เขม่าควันจากการเผาไหม้ขยะและผลผลิตทางการเกษตร การสูบบุหรี่ การก่อสร้างและรื้อถอน รวมถึงควันจากการประกอบอาหารกลางแจ้ง 

แต่ผลวิจัยล่าสุดของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเคมี วิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมจากทั้งหมด 9 สถาบันในสหรัฐฯ และแคนาดา ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Science สื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ชี้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ

คณะนักวิจัยใช้วิธีเก็บข้อมูลหลายแบบผสมกัน โดยมีการกำหนดพื้นที่สำรวจ 33 จุดในนครลอสแอนเจลิสของสหรัฐฯ เนื่องจากลอสแอนเจลิสมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศสูงกว่าเมืองอื่นๆ ทั้งยังสำรวจและเก็บข้อมูลสภาพอากาศเปรียบเทียบทั้งภายในอาคารและนอกอาคาร รวมถึงการศึกษารอยเท้าเคมี (Chemical Footprint) ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่กลุ่มประชากรในพื้นที่สำรวจใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีสารอินทรีย์ประกอบระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งทำปฏิกิริยากับสารเคมีอื่นๆ ในอากาศและกลายเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ใช้ชีวิตประจำวันมีหลายประเภท ทั้งสเปรย์ดับกลิ่น สเปรย์ฉีดผม สีสเปรย์ สีทาบ้าน สารเคลือบเงา หมึกพิมพ์ น้ำยาทำความสะอาดบ้าน สบู่ แชมพู น้ำหอม โลชั่น ไปจนถึงยาฆ่าแมลง และผลสำรวจสภาพอากาศในพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่า ปริมาณผลิตภัณฑ์ที่มีสาร VOCs ซึ่งใช้ในพื้นที่เก็บข้อมูล สอดคล้องกับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ จึงเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่าการแก้ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศอาจต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น

Lyft ปรับถนนแก้ปัญหาจราจรในลอสแอนเจลิส

เว็บไซต์เดอะวอชิงตันโพสต์ของสหรัฐฯ สัมภาษณ์เพิ่มเติม ไบรอัน แม็คโดนัลด์ หัวหน้าคณะวิจัย และได้คำตอบว่าหลายปีที่ผ่านมา แนวทางแก้ปัญหามลพิษทางอากาศมุ่งเน้นที่การควบคุมระบบขนส่ง คมนาคม โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และมาตรการหลายอย่างเห็นผลมากขึ้น เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการปล่อยมลพิษต่างๆ อย่างจริงจัง แต่ยังไม่มีการรณรงค์หรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนมากนัก ทั้งที่ปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีจำนวนมากมายมหาศาลในแต่ละวัน 

ขณะที่ ไบรอัน แซนโซนี ประธานสถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดของสหรัฐฯ โต้แย้งผลสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้ โดยระบุว่าเป็นการประเมินข้อมูลเกินจริง เพราะผลิตภัณฑ์ที่มีสาร VOCs ส่วนใหญ่จะปะปนไปกับน้ำ จึงไม่น่าจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นละเอียดในอากาศตามที่ระบุไว้ในงานวิจัย 

อย่างไรก็ตาม หง่า ลี เอ็ง ศาสตราจารย์เคมีและวิศวกรรมชีวเคมีโมเลกุลแห่งสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจียของสหรัฐฯ สนับสนุนผลวิจัยของนักวิจัยจาก 9 สถาบัน โดยย้ำว่าการศึกษาข้อมูลเหล่านี้คือเรื่องจำเป็น เพราะจะช่วยให้การกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลวิจัยชิ้นนี้บ่งชี้ว่าอากาศภายในอาคารกับภายนอกอาคารนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่งมีนัยสำคัญ การใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาจส่งผลถึงกันมากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม: