การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. เดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา เพิ่มเสถียรภาพ และความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าให้มีความเพียงพอ มั่นคง ตลอดจนการเตรียมพร้อมรองรับความต้องการไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เสริมสร้างทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครให้มีความสวยงาม และเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
นาย เทพศักดิ์ ฐิตะรักษา ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า โครงการนี้ กฟน.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนี้ได้ดำเนินการในพื้นที่ถนนนานาเหนือ ตั้งแต่แยกนานาถึงสะพานข้ามคลองแสนแสบ ความยาว 750 เมตร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2561 รวมงบประมาณกว่า 30 ล้านบาท โดย กฟน. ได้มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร โรงแรม ร้านอาหารต่างๆ รวมถึงลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ว่าจะมีการนำเสาไฟฟ้าออก
สำหรับ ถนนนานาเหนือ ถือเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว มีความหนาแน่นด้านการจราจร และร้านค้าที่เปิดให้บริการในช่วงกลางคืน มีความซับซ้อนทางกายภาพ ซึ่งทำให้ต้องดำเนินการอย่างรัดกุม โดยมีแผนดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป รวมระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะทำในช่วงเวลากลางคืน 22 นาฬิกา ถึง 4 นาฬิกา ของทุกวัน เพื่อให้เป็นอุปสรรคต่อการจราจรในช่วงกลางวัน
ทั้งนี้ กฟน.มีแผนนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินทั้งสิ้น 214.6 กิโลเมตร ภายในปี 2564 ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 45.6 กิโลเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจต่างๆ สำหรับพื้นที่ต่อไป กฟน. จะดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ถนนพระราม 3 ตั้งแต่สะพานพระราม 9 ถึง บริเวณสะพานกรุงเทพ รวมระยะทาง 4.6 กิโลเมตร และพื้นที่ใจกลางเมือง อย่างถนนวิทยุ อีก 2.1 กิโลเมตร