ไม่พบผลการค้นหา
The Toppick - 'แอมะซอน' เตรียมให้คนทั่วไปสอน 'อเล็กซา' ตอบคำถาม - Short Clip
Sep 18, 2019 00:05

'แอมะซอน' เตรียมแผนให้ประชาชนสอน 'อเล็กซา' หลังระบบแพ้ทั้ง 'กูเกิล' และ 'แอปเปิล'

แผนล่าสุดในการพัฒนา 'อเล็กซา' ระบบช่วยเหลือผู้ใช้งานของแอมะซอน คือการอนุญาตให้คนทั่วไปเป็นคนสอน 'อเล็กซา' ตอบคำถามที่ระบบไม่สามารถหาคำตอบได้เอง

แนวคิดดังกล่าวมาจากการทดสอบระบบผู้ช่วยระหว่างแอมะซอน กูเกิล และแอปเปิล โดยให้ระบบทั้ง 3 ทำข้อสอบตอบคำถาม 800 ข้อ ที่จัดทำโดยบริษัทลูป เวนเจอร์ โดยผลปรากฏว่าเอล็กซารั้งท้ายในลำดับที่สาม อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็ยังมองว่าการแข่งขันครั้งนี้กูเกิลได้เปรียบมากที่สุด เนื่องจากระบบสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลจากโปรแกรมค้นหาของตน

'บิล บาร์ตัน' รองประธานฝ่ายข้อมูลอเล็กซาของแอมะซอน กล่าวว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นแอมะซอนที่จะให้ชุมชนผู้ใช้งานเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเวลามีลูกค้ารายอื่นถามคำถามเข้ามา

สำหรับแอมะซอน บริษัทวางแผนจะให้ผู้ใช้งานเข้ามาเล่นเกมกับตัวระบบอเล็กซา และระบบจะให้คะแนนผู้ใช้งานที่ร่วมตอบคำถามกับอเล็กซา อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายกังวลว่าการใช้คำตอบที่มาจากผู้ใช้งานอาจทำให้เกิดการบิดเบือนความจริงได้

สำหรับประเด็นดังกล่าว แอมะซอน ออกมาแถลงว่า บริษัทจะใช้ข้อมูลที่ได้มาจากผู้ใช้งานจริง แต่ก็จะมีระบบอัลกอรึทิม บรรณาธิการมนุษย์ และการร่วมกันโหวตของผู้ใช้งานเองเข้ามาร่วมด้วย อย่างไรก็ดี หลายบริษัทที่ออกมาใช้ระบบในทำนองเดียวกันก่อนหน้านี้ทั้ง 'Yahoo Answer' และ 'Quora' กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นักกับระบบดังกล่าว

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เวอร์เนอร์ เกิร์ตซ์ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิเคราะห์ตลาด การ์ตเนอร์ เคยวิเคราะห์ไว้ว่า แอมะซอนกำลังลงทุนกับ 'ความแพร่หลาย' และเมื่อสินค้าหรือเทคโนโลยีใดแพร่หลาย ก็จะทำให้เกิด Infrastructure หรือ โครงสร้างพื้นฐานตามมา

เขาระบุว่า แอมะซอนต้องการให้ผู้คนเคยชินกับ 'ระบบนิเวศ' เชิงเทคโนโลยีแบบนี้ ส่วนการสร้างรายได้หลักของบริษัท ก็ยังจะอยู่ที่การเลือกซื้อสินค้าบน Amazon.com การบริโภคคอนเทนต์ใน แอมะซอน ไพรม์ และการใช้บริการอื่น ๆ ในเว็บไซต์อยู่เช่นเดิม

ด้านนักวิเคราะห์อีกคนจาก ฟอร์เรสเตอร์ อย่าง จูลี แอสก์ ก็เคยให้ความเห็นว่า ระบบสั่งงานด้วยเสียงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรวบรวมข้อมูลของลูกค้า และบริษัทใหญ่ต่าง ๆ ก็หันมาจับเทคโนโลยีรวบรวมข้อมูลกันมากขึ้น เช่น กูเกิลที่มีข้อมูลผู้ใช้อีเมล ปฏิทิน และโลเคชัน ขณะที่ แอปเปิลก็รู้ทุกอย่างบนสมาร์ตโฟนของตน

อีกหนึ่งตัวอย่างของปัญหาด้านความปลอดภัยก็คือในปี 2018 แอมะซอน เอคโค เคยมีกรณีการบันทึกบทสนทนาส่วนตัวของผู้ใช้ไว้ และส่งต่อไปยังคนในลิสต์เบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้คนนั้น โดยเป็นความผิดพลาดของระบบ ที่ตีความคำพูดหนึ่งในบทสนทนานั้นว่าเป็นคำสั่งให้ส่งข้อมูล

และที่น่ากังวลมากไปกว่านั้นก็คือผู้บริโภคส่วนใหญ่ยอมที่จะเสียสละความเป็นส่วนตัวเพื่อความสะดวกในการใช้งานอุปกรณ์ โดยไม่คิดว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถส่งผลเสียต่อผู้ใช้ได้ และลำโพงอัจฉริยะเหล่านี้ ซึ่งมีผู้บริโภคในสหรัฐฯ ถึง 1 ใน 3 มีไว้ภายในบ้าน อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog